http://www.dailynews.co.th/article/44/92447
วันพุธที่ 12 พฤษภาคม 2553 เวลา 00:00 น.
มีต้นไม้ ๒-๓ ชนิดที่คนไทยส่วนมากมักจะเรียกชื่อสลับกัน หรือเข้าใจผิดว่าเป็นต้นไม้อีกชนิดหนึ่ง ต้นไม้ที่ว่านี้ บางต้นก็มีลักษณะคล้ายกัน บางต้นก็มีชื่อคล้ายกัน
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า กัลปพฤกษ์ คือ ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia bakeriana Craib ในวงศ์ Leguminosae มีมากทางภาคอีสานและภาคเหนือ ดอกสีชมพูอ่อน ออกเป็นช่อในระหว่างทิ้งใบหรือผลิใบใหม่ ฝักมีขนนุ่ม กาฬพฤกษ์ คือ ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia grandis L.f. ในวงศ์ Leguminosae ลําต้นดํา ใบอ่อนสีแดง ดอกเล็ก สีแดงคล้ำแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมส้ม ฝักใหญ่อ้วนสั้น ผิวขรุขระ ด้านข้างมีสัน เป็นพรรณไม้ที่นําเข้ามาปลูก
ชัยพฤกษ์ คือ ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia javanica L. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีชมพูเข้ม เมื่อออกดอกไม่ทิ้งใบ ฝัก เกลี้ยงใช้ทํายาได้ ราชพฤกษ์ คือ ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia fistula L. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีเหลือง ฝักสีดํา เกลี้ยง ใช้ทํายาได้, คูน หรือ ลมแล้ง ก็เรียก
พฤกษ์ หรือ จามจุรี คือ ชื่อไม้ต้นชนิด Albizia lebbeck Benth. ในวงศ์ Leguminosae ดอก (เกสร) อ่อนมีสีเขียวและขาว เมื่อดอก (เกสร) แก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมแสด ฝักแบนยาวกว้าง ฝักอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีนํ้าตาลอ่อน ไม่มีรส, พฤกษ์ ซึก หรือ ซิก ก็เรียก, มักเรียกต้นก้ามปู หรือ ต้นจามจุรีแดง [Samanea saman (Jacq.) F. Muell.] ซึ่งเป็นไม้ต่างชนิดกันว่า ต้นจามจุรี
ก้ามปู คือ ชื่อไม้ต้นขนาดใหญ่ชนิด Albizia saman (Jacq.) F. Muell. ในวงศ์ Leguminosae เรือนยอดทึบแบนแผ่สาขากว้างใหญ่จึงให้ร่มเงาได้ดี ช่อดอกเป็นพู่สีชมพูแก่ ฝักแก่สีนํ้าตาลไหม้ ยาวประมาณ ๑๒ เซนติเมตร รสหวาน เป็นไม้ที่นําเข้ามาปลูก เดิมเรียก จามจุรีแดง แต่มักเรียกสั้น ๆ ว่า จามจุรี, พายัพเรียก ฉำฉา หรือ สำสา
สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อข้องใจในการใช้ภาษาไทยติดต่อได้ที่ ราชบัณฑิตยสถาน โทร.0-2356-0466-70 หรือทางอินเทอร์เน็ตที่ http://www.royin.go.th
ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน